เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bio-organic Fertilizer, BOF)
เป็นปุ๋ยรูปแบบใหม่ที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก) เป็นปุ๋ยสองชนิดร่วมกัน คือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ กระบวนการผลิตจะต้องทำการผลิตแยกกัน
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จะต้องใช้กระบวนการผลิตที่ให้อุณหภูมิสูงเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโรคพืช คน และสัตว์ในวัสดุหมัก รวมทั้งเพื่อลดประชากรจุลินทรีย์ธรรมชาติในช่วงสุดท้ายที่อุณหภูมิในกองปุ๋ยลดลงอยู่ระหว่าง 35-40°C
ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้นจะใช้จุลินทรีย์กลุ่ม plant growth promoting rhizobacteria (PGPR) ที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้และผลิตออกซิน โดยต้องทำการผลิตในถังหมักระบบปลอดเชื้อ จุลินทรีย์ที่ใช้คือสกุล Azotobacter และ Azospirillum ที่ได้ผ่านการคัดเลือกเฉพาะที่ให้ประสิทธิภาพสูง การผลิตในถึงหมักปลอดเชื้อจะต้องได้ปริมาณเชื้อสูงถึง 109 cells/ml จึงจะสามารถนำไปผสมกับปุ๋ยหมักได้
นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราไตรโคเคอร์มา(Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และเชื้อปฏิปักษ์ยับยั้ง และทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้รากเน่าในพืช ใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพดังกล่าวนี้จะมีคุณสมบัติของการเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร และมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวในปริมาณที่สูงพอที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อพืช
ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
1. บำรุงดิน โดยช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารให้กับพืชรวมถึงปรับสภาพสมดุลของธาตุอาหารในดิน ให้ดินมีความร่วนซุยจับตัวกันอย่างพอเหมาะต่อการเก็บ การระบายน้ำ และมีอากาศถ่ายเทได้ดี
2. ช่วยลดกิจกรรม และปริมาณของเชื้อราสาเหตุของโรคพืชบางชนิดในดิน เพิ่มความต้านทานโรคของพืช
3. สามารถให้ปุ๋ยไนโตรเจนและอ๊อกซินกับพืชได้โดยจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน
4. สามารถใช้ได้กับพืชปลูกทุกชนิด ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
5. ลดการใช้ปุ๋ยเคมี
ขั้นตอนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
1. เตรียมเชื้อจุลินทรีย์
เชื้อแบคทีเรียสกุล Azotobacter และ Azospirllum ต้องเป็นเชื้อที่ทำการคัดเลือกแล้ว ทำการเตรียมหัวเชื้อบริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ และเลี้ยงขยายในถังหมักปลอดเชื้อขนาด 500 ลิตร
เชื้อราสกุล Trichoderma ต้องเตรียมการต่อเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารเสริมก่อนกำหนดวันทำปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ ประมาณ 4 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณของเชื้อ และให้เชื้อเจริญเติบโต พร้อมที่จะใช้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพต่อไป
2. วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
1.) แบ่งวัสดุหมักออกเป็น 3 ส่วน นำส่วนที่ 1 มาเกลี่ยลงบนพื้นโรงหมัก ให้หนาประมาณ 1 เมตร ขณะเกลี่ยให้รดน้ำไปพร้อมกันโดยให้กองปุ๋ยมีความชื้นประมาณ 60 % และทำการใส่เชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 0.5 % ของน้ำหนักวัสดุ
2.) นำมูลสัตว์มาเกลี่ยทับบนวัสดุหมัก พร้อมรดน้ำให้ความชื้นและวัสดุหนา 1 เมตร ทำการใส่เชื้อจุลินทรีย์อีกประมาณ 05.% (ปริมาตร/น้ำหนัก)
3.) เดินเครื่องผสมวัสดุในโรงปุ๋ยโดยเครื่องอัตโนมัติ เมื่อผสมได้ดีแล้วทำการหยุดเครื่องแล้วคลุมกองปุ๋ยด้วยพลาสติก ทำการเดินเครื่องซ้ำทุก ๆ 4-5 วัน พร้อมให้อากาศ
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ทำการผลิตในระบบโรงเรือนที่มีการควบคุม จะย่อยสลายตัวดีอย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยสังเกตจากอุณหภูมิลดลงเท่ากับอุณหภูมิในบรรยากาศปกติ
ในการกลับกองปุ๋ยครั้งสุดท้าย ให้ผสมเชื้อจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยในปริมาณ1% แล้วทำการให้อากาศเป็นระยะหมักไว้ประมาณ 2-3 วัน จึงสามารถนำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ หรือบรรจุถุงเพื่อรอการจำหน่ายหรือใช้งานต่อไป
สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถาม : 044 -224820
รายละเอียดผู้รับบริการ
วันที่ถาม : 19/02/2565
คำถาม : อยากได้คำปรึกษาเรื่องการทำปุ๋ยขี้ไก่ ที่บ้านทำฟาร์มๆก่ไข่ อยากได้โนวฮาวในการแปรรูป เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์จากทางฟาร์ม แต่ขาดองค์ความรู้และการวิจัยที่จะได้มาซึ่งปุ๋ยที่มีคุณภาพ |272|M
คำตอบ : ประสานงานติดต่อผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา
การดำเนินงานจากเครือข่าย