แอบมองโครงสร้างแบบ “One Roof” ของกระทรวงพาณิชย์   74

คำสำคัญ : อว.ส่วนหน้า  ส่วนราชการ  จังหวัด  

กระทรวงพาณิชย์ มีหน่วยงานในสังกัดที่ปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคทั้งแบบ

ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการ และ ราชการบริหารส่วนกลางที่เป็นผู้แทนกรมซึ่งไม่ปรากฏในกฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการ

ทำให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ตามภูมิภาค มี ได้ 2 รูปแบบ แต่ละส่วนทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย กระจายอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่มีการบูรณาการงานร่วมกันอย่างชัดเจน และสำนักงานของกรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของกระทรวง ทำให้ภาพการทำงานของกระทรวงไม่ชัดเจน บางงานมีความทับซ้อนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างของกระทรวง อว. แล้วนั้น อว. มีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ในรูปแบบของราชการบริหารส่วนกลาง แบบเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดราชการบริหารส่วนภูมิภาค จึงเป็นเหตุให้ไม่มีการจัดตั้งส่วนราชการในภูมิภาคและไม่มีหน่วยราชการประจำจังหวัด ซึ่งจะมาจากเหตุผลใด ผู้เขียนยังไม่อาจทราบข้อมูลได้ทั้งหมด ทั้งนี้ได้ลองทำภาพการวิเคราะห์โครงสร้างเปรียบเทียบกันดังนี้

เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานในภูมิภาค กระทรวงพาณิชย์จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างหน่วยงานในภูมิภาค เพื่อมุ่งให้เกิดภาพการทำงานของกระทรวงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งปรับปรุงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของ “พาณิชย์จังหวัด” จากระดับ 8 ขึ้นเป็น 9 เพื่อให้มีฐานะเป็นผู้แทนของกระทรวง และมีอำนาจบริหารจัดการในฐานะ “หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัด” ดูแลงานของทุกกรม กอง ในพื้นที่จังหวัด และทุกกลุ่มงานจะถูกปรับทั้งโครงสร้างการทำงาน และอัตรากำลัง ให้กลายเป็นกลุ่มงานภายใต้สำนักงานพาณิชย์ ขึ้นตรงกับพาณิชย์จังหวัด เป็นการปกครองแบบ Single Windowซึ่งมีขั้นตอนตาม Timeline ที่สรุปได้นี้ 

จากข้อมูลที่ได้พยายามศึกษาและรวบรวมมาเพื่อเล่าสู่กัน จะเห็นได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ เริ่มทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงฯ ในปี พ.ศ 2542 เพื่อให้เป็นกระทรวงที่มีความเป็นหนึ่งเดียว มีการทำงานแบบบูรณาการ ลดการทำงานของแต่ละกรมกองและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วน สู่กระบวนการปรับเปลี่ยนตั้งแต่กระทรวงส่วนกลาง และ ส่วนราชการในภูมิภาคตามขั้นตอน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐบาล รวมทั้งต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการ และคณะทำงานที่ถูกจัดตั้งเพื่อร่วมดำเนินการในหลายระดับ พบว่าใช้เวลาถึง 16 ปี ในการปรับโครงสร้างการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในภูมิภาค ให้เป็นโครงสร้างแบบ One roof และจนกระทั่งมีคำสั่งให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามโครงสร้างใหม่ครบทั้ง 76 จังหวัด ได้ในปี พ.ศ 2558 และดำเนินงานมาจนถึงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างสูงสำหรับ กระทรวง อว. ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารได้มีความพยายามวางรากฐานและพยายามจัดตั้งกลไกการทำงานในพื้นที่ในแต่ละระดับขึ้น มีการดำเนินการในรูปแบบของสำนักงานประจำภูมิภาคเพื่อมุ่งหวังให้เป็นผู้ประสานงานของกระทรวงในพื้นที่ในการผลักดันแผนงานด้าน อววน. เข้าบรรจุในแผนพัฒนาพื้นที่ แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบมีปัญหาในการผลักดันแผนงานเข้าบรรจุในแผนระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดอยู่บ้าง เนื่องจาก อว. ยังไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการประจำจังหวัด จึงไม่มีหน่วยรับงบประมาณ ไม่สามารถรับงบประมาณเพื่อดำเนินการได้เอง จึงเกิดความไม่คล่องตัวในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เข้าดำเนินงานโครงการอยู่ไม่น้อย

แต่หากจะกล่าวถึงความพร้อมด้านอื่น ๆ แล้วนั้น อว. ถือว่ามีความพร้อมในการดำเนินงานในระดับพื้นที่สูงมาก เนื่องจากในปัจจุบัน อว. มีกลไกการดำเนินงานในพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับกระทรวง ภูมิภาค และจังหวัด โดย อว. ได้แต่งตั้งผู้แทนของกระทรวงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะ อว.ส่วนหน้า ประจำจังหวัด ครอบคลุมครบทั้ง 76 จังหวัด โดยเป็นผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยหลักในพื้นที่ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถเข้าร่วมประสานงานและเข้าดำเนินการกับพื้นที่เพื่อนำองค์ความรู้ด้าน อววน. เข้าพัฒนาจังหวัดตามประเด็นเร่งด่วนของแต่ละจังหวัดได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ อว. มีฐานข้อมูลผลงานที่สามารถรวบรวมเป็นข้อมูลสำคัญในกรณีหากต้องมีการศึกษาความเหมาะสมสำหรับการจัดตั้งหน่วยราชการในพื้นที่ที่มีฐานะเป็นส่วนราชการประจำจังหวัด หรือไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเพื่อให้มีส่วนราชการส่วนภูมิภาคได้ในอนาคต ซึ่งต้องมีการศึกษากฎหมาย หรือ พรบ. ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมทั้งต้องดำเนินการโดยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กพ. และ กพร. และส่วนงานอื่น ๆ ซึ่งมองว่าน่าจะต้องใช้เวลาในการศึกษา และดำเนินการมากพอสมควร แต่ยังคงหวังว่าวันหนึ่ง จะเกิด “สำนักงานของ อว.ประจำจังหวัด” ที่เป็นส่วนราชการประจำจังหวัด มี “อว.จังหวัด” เป็นหัวหน้าสำนักงาน และเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

หากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ผู้เขียนพยายามศึกษาข้อมูลที่เป็นรายงานวิชาการ และ ข้อมูลที่เป็นข้อกฏหมาย ซึ่งมีความเข้าใจยากอยู่บ้างค่ะ

ที่มาของข้อมูลที่ผู้เขียนทำการศึกษา มีดังนี้

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/1558/Mhesi/One%20roof%20research.pdf

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/1558/Mhesi/Study%20Data%20one%20roof.pdf

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/1558/Mhesi/Power%20Point%20One%20roof.pdf


เขียนโดย : น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : rachanis.s@mhesi.go.th

เป็นข้อมูลที่ดีมากๆ น่าสนใจและมีประโยชน์มากเลยค่ะ น่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษาทั้งในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานภายในของ กปว. ให้เป็นแบบเส้นทางเดียว (One Route) และสำหรับกระทรวง  อว. ของเราที่ยังไม่มีหน่วยงานส่วนราชการประจำจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางให้เรามีหน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดกันต่อไปค่ะ :)

เขียนโดย มัชฌิมา  นันทรัตน์