ศิลปวัฒนธรรม - ของอาหารชาววัง   25

คำสำคัญ : food  

อาหารชาววัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากับข้าวเจ้านาย หมายถึงอาหารที่มีกำเนิดจากการประดิษฐ์คิดค้นโดยผู้คนในรั้วในวัง จุดมุ่งหมายที่สำคัญก็คือเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

ลักษณะที่สำคัญของอาหารชาววังจะมีอัตลักษณ์ที่สำคัญอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์ และความสดใหม่ของวัตถุดิบในการประกอบอาหาร มีกรรมวิธีในการทำที่ซับซ้อน ประณีต ต้องใช้เวลาและกำลังผู้คนในการทำจำนวนมาก มีลักษณะของความแปลกแตกต่าง ความวิจิตรบรรจง รวมถึงมีรสชาติที่นุ่มนวล ไม่จัดจ้าน กลมกล่อมเป็นหลักคือมีศิลปะทั้งในแง่ของการเป็นทั้งอาหารปากและอาหารตา นอกจากนี้ในหนึ่งสำรับจะต้องมีอาหารอย่างน้อย 7 ชนิด ประกอบไปด้วย

  • ข้าวสวยเป็นหลัก
  • อาหารคาว
  • เครื่องเคียงอาหารคาว
  • เครื่องเคียงแขก
  • เครื่องจิ้ม
  • เกาเหลา
  • ของหวาน

โดยทั่ว ๆ ไปอาจกล่าวได้ว่าอาหารชาววังมีตำรับสูตรอาหารที่ใกล้เคียงกันในระหว่างวังต่าง ๆ กล่าวคือศูนย์กลางของตำรับอาหารชาววังน่าจะมาจากพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขยายตัวของวังเจ้านายออกไปภายนอกได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ตำรับอาหารของวังต่าง ๆ ที่อาจมีความแตกต่างหรือมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อันอาจเกิดจากรสนิยมของเจ้านายรวมถึงผู้ปรุงอาหาร รวมถึงการพัฒนาเทคนิคหรือสูตรเด็ดเคล็ดลับที่เป็นลักษณะเฉพาะของวังต่าง ๆ รวมถึงมีการขยายตัวของการทำอาหารออกไปยังบ้านของขุนนางข้าราชการ ที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติใกล้ชิด  กับวัง ทำให้วังบางวังมีชื่อเสียงว่ามีความสามารถในตำรับอาหารที่เป็นพิเศษเป็นการเฉพาะ

ที่มา : เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากบทความ “กำเนิดและพัฒนาการของอาหารชาววัง ก่อน พ.ศ. 2475”
เขียนโดย : สุนทรี อาสะไวย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554


เขียนโดย : น.ส.อังคณา  สีจำปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : -