Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
ไขมันในเลือดสูง กินผลไม้อะไรดี 435
ไขมันในเลือดสูง คือเท่าไร
ระดับไขมันในเลือดปกติแล้วจะดูจากค่าไขมันดีและไขมันชนิดไม่ดีที่อยู่ในเส้นเลือดเรา โดยแบ่งได้ดังนี้
-
คอเลสเตอรอลชนิดดี (HLD) : ค่าปกติไม่ควรน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และค่าที่มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าเหมาะสม
-
คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) : ค่าปกติคือน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในระดับ 130-190 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะถือว่าสูง
-
ไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) : ค่าปกติจะอยู่ที่ 50-150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากมีไขมันชนิดนี้ในระดับ 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะถือว่าสูง และถ้าเกินว่านี้จะถือว่าสูงมาก
-
คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) : คือรวมทั้งไขมัน LDL, HDL และไตรกลีเซอไรด์ โดยค่าปกติควรต้องน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ถ้าเกิน 200 จะถือว่าเริ่มสูง และถ้าพุ่งไปมากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าสูงมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปตรวจไขมันในเลือดแล้วพบว่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) สูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ต้องมาเช็กอีกทีว่าค่าไขมันแต่ละตัวเกินปกติด้วยไหมนะคะ เพราะบางคนอาจมี HDL สูง แต่ LDL ไม่เกินก็เป็นได้ แต่หากค่าไตรกลีเซอไรด์สูง ค่าไขมันเลวมากกว่า และค่าไขมันดีก็ต่ำกว่าปริมาณ เคสนี้ก็ควรต้องใส่ใจสุขภาพกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน
คอเลสเตอรอลสูงเท่าไรถึงอันตราย มีอาการแสดงไหมว่าเราไขมันในเลือดสูง
ไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงผลไม้อะไร
แม้ผลไม้จะมีวิตามินและสารอาหารหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ ทว่าในคนที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยงผลไม้เหล่านี้ไว้ ตัวอย่างเช่น
-
มะม่วงสุก เป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัดและมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสค่อนข้างมาก
-
ทุเรียน มีทั้งฟรุกโตสสูง คาร์บสูง แถมด้วยไขมัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่า
-
มะพร้าว น้ำมะพร้าวมีน้ำตาลฟรุกโตสสูง ในส่วนเนื้อมะพร้าวก็มีทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง กินไปแล้วก็อาจไปเพิ่มไขมันในร่างกายได้
-
น้อยหน่า มีทั้งคาร์บและน้ำตาลฟรุกโตส
-
มะขามหวาน เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง
-
กล้วยหอม มีน้ำตาลฟรุกโตสและคาร์บ
-
กล้วยไข่ มีน้ำตาลฟรุกโตสและคาร์บสูง
-
กล้วยน้ำว้า มีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูง
-
แตงโม เป็นผลไม้รสหวานจัดและมีน้ำตาลฟรุกโตสสูง
-
ลิ้นจี่ มีฟรุกโตสสูงเช่นกัน
-
มังคุด มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง มีคาร์โบไฮเดรตด้วย
-
อินทผลัม มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง
-
ลำไย เม็ดเล็ก ๆ แต่น้ำตาลสูงมาก
-
ขนุน เป็นผลไม้ที่มีทั้งน้ำตาลและคาร์บในปริมาณค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผลไม้ที่คนไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงควรหลีกเลี่ยง จะเป็นกลุ่มผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง ซึ่งก็เป็นเพราะว่าน้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที จึงจะเก็บสะสมไว้ในตับ หากเผาผลาญน้ำตาลชนิดนี้ไม่หมด ตับก็จะเปลี่ยนน้ำตาลฟรุกโตสให้เป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ในที่สุด และยังเพิ่มปริมาณไขมันเลว LDL ได้อีก ทั้งหมดนี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคไขมันพอกตับ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
ไขมันในเลือดสูง กินผลไม้อะไรดี
ผลไม้อีกหลายชนิดก็มีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพของคนมีระดับไขมันในเลือดสูง ลองมาดูกันว่าไขมันในเลือดสูงกินผลไม้อะไรดี
-
ฝรั่ง มีไฟเบอร์สูง วิตามินซีสูง และมีส่วนช่วยลดการสลายตัวของแป้งและลดการดูดซึมน้ำตาลด้วย
-
แก้วมังกร มีน้ำตาลต่ำ แถมเจ้าเม็ดดำ ๆ ในเนื้อยังช่วยพาไขมันออกจากร่างกาย ช่วยลดไขมัน LDL ได้ แต่ควรเลือกกินเนื้อสีขาวนะคะ เพราะจะมีน้ำตาลน้อยกว่าเนื้อสีแดง
-
ชมพู่ มีน้ำตาลต่ำและคาร์โบไฮเดรตก็ต่ำ ที่สำคัญยังมีไฟเบอร์ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติลดการดูดซึมไขมันในระบบทางเดินอาหาร
-
มันแกว ผลไม้บ้าน ๆ ที่มีน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำ และยังมีอินนูลินหรือใยอาหารละลายน้ำที่จัดเป็นพรีไบโอติก ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
-
ส้ม อุดมไปด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณในด้านลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน
-
เสาวรส ถือว่าเป็นผลไม้ลดไขมันอีกชนิดที่น่าสนใจ เพราะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ
-
ทับทิม มีงานวิจัยพบว่า น้ำทับทิมสกัดมีส่วนช่วยลดไขมันเลวในเลือดได้ และยังช่วยลดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดได้อีกต่างหาก
-
แอปเปิลเขียว เป็นผลไม้น้ำตาลน้อย ค่าดัชนีน้ำตาลก็ต่ำ ที่สำคัญในแอปเปิลจะมีเพกทินที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร และนำพาเอาไขมันตกค้างในร่างกายออกมาทางการขับถ่าย
-
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี กีวี ราสป์เบอร์รี ที่มีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ มีส่วนช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมันของร่างกาย
-
องุ่น มีเพกทินและไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำที่ช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล
- อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยลดปริมาณไขมัน LDL และช่วยเพิ่ม HDL ในเลือดได้