ศาสตร์ในการรับมือกับคน "เฮงซวย" ในที่ทำงาน  108

คำสำคัญ : จิตวิทยา  การพัฒนาตัวเอง  ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน  การรับมือกับคน  

ศาสตร์ในการอยู่ร่วมกับคน "เฮงซวย"

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ชาว กปว. ทุกท่าน ประเดิมการเขียน blog แรกของผมด้วยชื่อเรื่องแบบสะดุดสายตา (หรือสะดุดบาทาใคร) นี่ถ้าไม่เกรงใจ ผอ. ก็จะเปลี่ยนจาก "คนเฮงซวย" เป็น "คนเ_ี้ยๆ" แทน น่าจะสะดุดตีน เอ๊ย!! ตา มากกว่านี้ และเนื่องจากเป็น blog แรก อาจจะยังไม่คุ้นชินกับระบบการเขียน blog ใน CMO สักเท่าไร หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยด้วยครับ

 

เนื่องจากผมอ่านหนังสือแนวๆพัฒนาตัวเอง ค่อนข้างเยอะ แต่เล่มที่ถูกใจ เรียกว่าสะดุดตาตั้งแต่ยังไม่มีฉบับแปลไทยคือ หนังสือของโรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในหนังสือ ผมว่านามสกุลพี่แกน่าจะอ่านว่า "สุดทน" มากกว่า "ซัตตัน" ด้วยชื่อหนังสือว่า "The Asshole Survival Guild" หรือแปลเป็นไทยว่า คู่มือเอาตัวรอดจากคน Asshole ซึ่งเราทุกคนอาจจะต้องเพชิยหน้ากับสถานการณ์ที่มีคนร้ายกาจในที่ทำงานกันบ้าง แล้วเราจะรับมือกับคนเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าขบคิด ดังเช่น motto หรือ คำคมที่เราเห็นในทวิตเตอร์ที่แชร์กันบ่อยทำนองว่า 

"ก่อนคุณจะไปหาหมอเพื่อตรวจว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้คุณตรวจก่อนว่ารอบๆ ตัว เต็มไปด้วยคนเฮงซวย หรือเปล่า” – นิรนาม

และบางคนก็ทวิตว่า...

"ก่อนคุณจะทำร้ายตัวเอง ลองไปด่าไอ้คนที่ทำให้คุณเป็นแบบนี้แล้วยัง?” – นิรนาม 

 

ต้นฉบับทวิตเตอร์มันเป็นภาษาอังกฤษนะครับใช้คำว่า Asshole เนี่ยแหละ ส่วนเราจะตีความ Asshole เป็นไทยยังไงก็ได้แล้วแต่อารมณ์ "สุดทน" ของท่าน เพราะพวกฝรั่งก็ยังสับสนกันอย่างจริงจังระหว่าง Asshole และ พวก Jerk ก็ปล่อยพวกฝรั่งมันเถียงกันไป เราลองมานิยาม Asshole ของเรากันเองดีกว่า

 

นิยาม Asshole คำนี้มันก็คือคำด่านี่แหละครับ และคำด่าของไทยเรามันก็เจ็บแสบพอทน ไม่ว่าจะเป็น เฮงซวย เหมือนที่ผมใช้ตามชื่อหนังสือ หรือจะใช้คำว่า เ_ี้ย เหมือนที่มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมายตามในเน็ต หรือจะเป็น คนร้ายกาจ คนเลว ก็ได้ อย่างที่พอฟังได้และไม่ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนจนเสียอรรถรสในการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงเป็น คนเฮงซวย นี่ล่ะครับ งั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำหยาบคาย จากนี้ไปผมจะใช้คำว่าคนเฮงซวย หรือทับศัพท์ Asshole ไปเลยละกันครับ

ทุกท่านอาจคิดว่าคนเฮงซวยต้องเป็นคนยังไงครับ ใช่คนที่ชอบพูดจาถากถางคนอื่นโดยที่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเองเลยรึเปล่า? ใช่คนที่ชอบขโมยเครดิตคนอื่นรึเปล่า? ใช่คนที่ชอบเอาเปรียบหรือเหยียบหัวชาวบ้านโดยไม่รู้สึกผิดรึเปล่า? แต่มาดูกันว่านิยามความเฮงซวยของผู้ที่วิจัยเรื่องความเฮงซวยมาอย่างหมกมุ่นเป็นอย่างไร

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเรื่องคนเฮงซวยนี่จะเป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องใช้นักวิชาการศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะคนเฮงซวย หรือคนเหี้ย (อุ๊ย!! หลุดปาก) เนี่ยเป็นปัญหาต้นๆของความสัมพันธ์ในทุกชนชั้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่เราทุกคนต้องเผชิญนี่ละครับ ในงานวิจัยอาจใช้คำที่สวยงามว่า Toxic personality (คนที่เป็นพิษ) หรือ Jerk แต่ก็มีคุณลุงโรเบิร์ต สุดทน (Robert Sutton จริงๆนามสกุลแกอ่านว่าซัตตันนะครับ) ไม่รู้แกไม่สุดทนกับใครมาเลยใช้คำว่า เฮงซวย (Asshole) แบบไม่ประนีประนอมอ้อมค้อมกันเลย แกเขียนหนังสือที่โด่งดังมากชื่อว่า No Asshole Rule (กฎไร้คนเฮงซวย) ในปี 2007 คุณลงสุดทนนี่แกเป็น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนะครับ แกสอนด้านวิทยาการจัดการ แล้วอีก 10 ปี ต่อมา แกก็เขียนหนังสือฉบับที่ผมใช้เป็นปกภาพแรกของ blog ผมนี่ล่ะครับ นี่สะท้อนว่า ถึงแม้แกจะเชี่ยวชาญในทฤษฎีของคนเฮงซวย แต่คนเฮงซวยก็ยังอยู่ร่วมกับแกมาเป็น 10 ปี สงสัยว่าแกจะสุดทนอีกรอบเลยเขียนหนังสือ Asshole ออกมาอีก ใครอยากรู้ว่าลุงแกเขียนหนังสือะไรบ้างก็ไปตามอ่านเอาใน wiki นะครับ https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_I._Sutton

นักวิชาการอีกคนที่หมกหมุ่นอยู่กับคนเฮงซวยจนเขียนหนังสือเรื่องทฤษฎีคนเฮงซวย Asshole A Theory ขึ้นมาก็คือพ่อหนุ่ม Aaron James (2012) พ่อหนุ่มหัวร้อน เอ๊ย อารอน แกตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมาเลย ใครอยากอ่านก็ไปค้นกูเกิลดูนะครับตามภาพปกหนังสือที่ผมแปะไว้

สรุปว่าทั้งผู้บ่าวและผู้เฒ่าทั้ง2ท่าน ก็นิยาม Asshole กันไว้ประมาณนี้นะครับ

Aaron James (2012) นิยามว่าคนเฮงซวยนั้นจะมีลักษณะเฉพาะสามประการ นั่นคือ

1. คนเฮงซวยจะยอมให้ตัวเองมีผลประโยชน์เหนือคนอื่นๆ และมักจะฉวยโอกาสเหล่านี้อย่างเป็นระบบ (หรือบางครั้งก็แบบหน้าด้านๆเนี่ยแหละ)

2. คนเฮงซวยจะฉวยโอกาสด้วยความรู้สึกที่ว่า "ก็ชั้นควรจะได้โอกาสนี้" และอาจคิดว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น (entitlement)

3. คนเฮงซวยจะมีภูมิคุ้มกันคำวิจารณ์ของคนอื่นด้วยความที่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอันชอบธรรม

แต่อย่าเหมาว่าคนเฮงซวยนั้นเป็นโรคจิต(psychopath)นะครับ เค้าไม่ได้เป็นโรค แต่เค้าแค่เฮงซวยโดยสันดาน เพราะคนเฮงซวยนั้นจะมีเหตุผลทางจริยธรรมอย่างเป็นระบบ แต่เป็นระบบจริยธรรมที่เข้าข้างตัวเอง (คิดว่าตัวเองมีสิทธิเหนือกว่าชาวบ้าน)

ในขณะที่คุณลุงสุดทนนี่แก เก๋าสมวัย แกให้สัมภาษณ์อย่างผู้ผ่านโลกมานานว่า Sutton ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆ แล้ว ความเฮงซวยในทางวิชาการก็มีนิยามหลากหลายนะครับ แต่ที่ผมนิยามก็คือ : คนเฮงซวยคือคนที่ทิ้งให้เรารู้สึกไร้ค่า (demeaned) ไร้พลัง (de-energized) ไร้ความเคารพนับถือในตัวเอง (disrespected) และรู้สึกถูกกดขี่ตลอดเวลา (oppressed) หรือกล่าวอีกอย่างคือคนเฮงซวย มักจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นธุลีดินนั่นเอง (make you feel like dirt).” และลุงสุดทนแกยังบอกอีกว่า  "คนเราก็มีเวลาที่ทำตัวเฮงซวยกันทั้งนั้น" (The Matter, 2017) 

สำหรับคุณลุงสุดทน แกแบ่งประเภทคนเฮงซวยไว้แค่ 2 ประเภท เท่านั้น คือ

1. คนเฮงซวยแบบชั่วคราว (temporary asshole) ลุงแกบอกว่า “ถ้าอยู่ในบางสถานการณ์ พวกเราทุกคนก็เฮงซวยได้ทั้งนั้น” (ซึ่งก็จริง อย่างเช่นถ้าหงุดหงิดขึ้นมาเราก็ทำตัวเฮงซวยได้ ในขณะเดียวกันก็ใช้ตอบโต้คนอื่นด้วย ก็ประมาณ เฮงซวยมา เฮงซวยกลับ ไม่โกง นั่นแหละครับ)

2. คนเฮงซวยแบบได้โล่ (certified asshole) คือคนที่เฮงซวยตัวพ่อ เฮงซวยอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่ง คุณลุง Sutton อธิบายไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “ผมไม่คิดว่าความเชื่อที่ว่าคนเฮงซวยจะเป็นคนที่ไม่สนใจคนอื่นจะเป็นจริงนะ จริงๆ แล้ว คนเฮงซวยสนใจคนอื่นมากเลยแหละ แต่ว่าเป็นการสนใจแบบที่ อยากทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บปวดหรือหงุดหงิด แล้วก็มีความสุขกับความเจ็บปวดนั้นๆ” (The Matter, 2017) โห....นี่ก็เกินเบอร์ไปมาก อีกนิดก็โรคจิตละ ถึงพอหนุ่มอารอนจะบอกว่าคนเฮงซวยไม่ใช่คนโรคจิตก็เถอะ

แต่ผมก็ชอบที่ลุงสุดทนแกเขียนในหนังสือ Asshole Survival Guide ไว้อย่างน่าคิดนะว่า "มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่คิดว่าตัวเองเป็นคนเฮงซวย" (Sutton, 2017) ก็ไม่น่าแปลกใจนะ 5555 เพราะคนเรามักคิดว่าคนอื่นเฮงซวย แต่ตัวเอง ‘มีเหตุผล’ พอที่จะไม่เฮงซวยนั่นเอง (หรือถ้าทำอะไรแย่ๆ ก็อาจใช้เหตุผลมาเข้าข้างตัวเองว่ามันสาสมดีแล้ว หรือมันก็ควรเป็นอย่างนี้แหละ)

เอาเป็นว่า เราควรคิดว่าคนอื่นเฮงซวยให้น้อยที่สุด แต่เน้นการสำรวจตัวเองว่าเฮงซวยมากแค่ไหน โดยไม่หลงตัวเองเสียจนไม่รู้ว่า "เราก็เฮงซวย"

เอาละนี่ก็เขียนมายาวแล้วสำหรับ blog แรกของผม หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะนึกด่าผมในใจแล้วว่า "ไอ้คนเฮงซวย" อ่านมาตั้งนานยังไม่รู้เลยว่าจะรับมือกับคนเฮงซวยยังไง เอาเป็นว่า blog นี้ผมจะทิ้งท้ายวิธีสำรวจตัวเองว่าเป็นคนเฮงซวยหรือเปล่า ไว้ให้กับผู้อ่านทุกท่านก่อละกันครับ เพราะการจะรับมือกับคนเฮงซวยให้ดีที่สุดจนถึงขั้นสามารถทำให้คนเฮงซวยหายไปจากองค์กรของเราได้ คือเราต้องไม่เป็นคนเฮงซวยซะเอง ถ้าทำแบบนี้ได้ทุกคน ก็จะไม่เหลือคนเฮงซวยแล้วครับ ส่วนกรณีที่หลีกเลี่ยงคนเฮงซวยไม่ได้ยังไงก็ต้องเจอ blog หน้าผมจะสรุปวิธีการจากหนังสือหลายๆเล่มให้อ่านละกันครับ

เอาล่ะ มาสำรวจกันว่า คุณมีระดับความเฮงซวยแค่ไหน ลองสำรวจโดยการตอบคำถาม แค่ yes หรือ no ว่าคุณเคยทำพฤฒิกรรมเหล่านี้หรือไม่ แล้ว comment ทิ้งไว้ ผมจะตอบทุกท่านเป็น % ความเฮงซวย เองครับ เริ่มได้!!

1. ดูถูกเหยียดหยามเรื่องส่วนตัวคนอื่น (yes/no)

2. ก้าวล้ำเข้ามาใน “พื้นที่ส่วนบุคคล” (yes/no)

3. ชอบแตะเนื้อต้องตัวแบบที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมด้วย (yes/no)

4. ชอบขู่หรือคุกคาม ทั้งทางวาจาและทางอื่น (yes/no)

5. ใช้คำตลกเสียดสีและยั่วล้อเหยื่อเพื่อดูถูก (yes/no)

6. พูดจาหมาๆ ในอีเมลหรือในไลน์ (yes/no)

7.  ใช้สเตตัสเพื่อ “แซะ” ทำให้คนอื่นอับอาย (yes/no)

8. ชอบเอาเรื่องคนอื่นมาประจานในที่สาธารณะ (yes/no)

9. ชอบขัดคอเวลาคนอื่นพูด (yes/no)

10. ตีสองหน้า (yes/no)

11. มองคนอื่นเหยียดๆ (yes/no)

12. ทำเหมือนคนอื่นไม่มีตัวตน (yes/no)

ตามด้วยการตอบคำถามปรนัย 5 ข้อ ดังนี้

13. คุณกำลังต่อคิวซื้อยาอยู่ ขณะต่อคิวคุณคิดอะไร

  a. เราลืมซื้ออะไรหรือเปล่านะ

  b. เราต้องซื้อไอบูโปรเฟน หรืออะเซตามินาเฟนนะ ลืมเรื่อยเลย

  c. อ๊ะ ขอโทษครับ ไม่ได้ตั้งใจชน

  d. คนพวกนี้แม่งโง่ชิบหาย ทำไมกูต้องมาเสียเวลากับคนพวกนี้ด้วยวะ

14. ในที่ประชุม ดำเกิงบอกว่าข้อเสนอของคุณคงใช้ไม่ได้ คุณคิดว่า

  a. ก็มีประเด็นนะ แต่มั่นใจว่าเราแก้ปัญหาที่บอกมาได้แน่นอน

  b. บัวเผื่อนมองดำเกิงอีกและ เธอชอบเขาแน่ๆ เลย แย่ชะมัด แต่ยังไงเราก็คิดว่าข้อเสนอของเราดีกว่าดำเกิงชัวร์

  c. เออ ดำเกิงพูดถูก เราน่าจะคิดได้ก่อน

  d. ดำเกิงแม่งเฮงซวย แม่งพูดแบบนี้เพราะอยากเลื่อนขั้นอะดิ แล้วคนอื่นก็ฟังมันซะด้วยนะ

15. คุณเห็นชายอายุสามสิบใส่แว่นตาสไตล์สตรีมพังก์ ทำหัวสีชมพู สวมสนีกเกอร์เก่าๆ ทาลิปสติกสีแดงเปรอะๆ คุณคิดว่า

  a. คนเราก็แตกต่างกันไปเนอะ

  b. มีร้านโดนัทเปิดใหม่ตรงหัวมุมอ๊ะเปล่าหว่า

  c. โห กล้าจัง เราน่าจะกล้าแบบนั้นบ้าง เขาต้องเป็นคนสนุกแน่ๆ เลย

  d. ไปหางานทำไป๊ กูยังทาลิปสติกได้สวยกว่ามึงอีก

16. ที่ทางม้าลาย มีคนกำลังข้ามถนนข้างหน้ารถของคุณ คุณคิดว่า

  a. สถานีวิทยุนี้เปิดเพลงเพราะจัง

  b. ผอ.ต้องด่ากูแน่ๆ ถ้าไปสายอีก โอ๊ย ทำไมต้องตื่นสายด้วยวะ

  c. เธอ (คนที่เดินข้ามถนน) ดูผ่านอะไรมาเยอะนะ

  d. ไอ้งั่งนี่จะเดินเร็วๆ กว่านี้ไม่ได้หรือไงวะ ยืดยาดชิบหาย

17. พนักงานเสิร์ฟลืมว่าคุณสั่งแฮมเบอร์เกอร์ชิลลี (สตูเนื้อรสเผ็ด) แล้วเสิร์ฟแฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่ใส่ซอสเผ็ดมา คุณคิดว่า

  a. ช่างมัน คราวหน้าค่อยกิน แบบนี้ก็อ้วนน้อยกว่าด้วย

  b. โห่ ไม่ได้ใส่ซอสมา เดี๋ยวบอกเขาให้เอาไปทำใหม่ดีกว่า

  c. ร้านนี้คนแน่นจัง พนักงานเสิร์ฟก็ดูยุ้งยุ่ง เดี๋ยวเธอเดินมาแล้วค่อยบอกดีกว่าว่าทำผิด

  d. แม่งเป็นแบบนี้ไงเลยเป็นได้แค่พนักงานเสิร์ฟ ถ้ากูเป็นเจ้าของร้านนี้ละก็นะแม่งไล่ออกเดี๋ยวนี้เลย

 

ลองตอบๆกันดูนะครับ

1. N

2. N

3. Y ........ไปจนถึงข้อ 12 แล้วต่อด้วย 13. a, 14. b, 15. c..... ไปจนถึง 17

แล้วเจอกัน blog หน้า กับสาระและไม่มีสาระ ที่ผมจะสรุปจากการอ่านหนังสือนะครับ


เขียนโดย : นายสมบัติ  สมศักดิ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sombat.s@most.go.th

ของผมลองทำแบบสำรวจดูแล้วก็เฮงซวยพอประมาณที่ 23.53% ครับ

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

ไม่ทราบว่าในหนังสือมีวิธีแยกแยะคนเฮงซวยที่ไม่เปิดเผยตัวด้วยมั้ยคะ เพราะน่าจะอันตรายกว่าแบบที่แสดงออกชัดเจน หรือเรามีวิธีใช้ประโยชน์จากความเฮงซวยที่ต้องเจอทุกวัน ๆ ได้ยังไงบ้าง ตรงนี้ท่านสมบัตินักรีวิวสรุปเป็นอีกบล๊อกนึงก็ได้นะคะ ติดตามค่ะ

เขียนโดย ดร. มุทธมาศ  วงศ์วานิช
สรุปคือการทำให้คนเฮงซวยหายไปจากองค์กรของเราได้ คือเราต้องไม่เป็นคนเฮงซวยซะเอง โดยตรวจสอบตัวเองด้วยการตอบคำถาม 17 ข้อ 
ปล. แต่น่าจะบอกวิธีการคำนวณ % ความเฮงซวยมาด้วยเลย ทุกคนจะได้ตรวจสอบและประเมินตัวเองไปด้วยเลยครับ
เขียนโดย นายชุมพล  เยาวภา

กำลังรอให้ถามเลยครับ ท่านชุมพล เอาเป็นว่า ข้อ 1-12 ถ้าตอบ yes มาก ก็เฮงซวยมาก ครับ ในส่วนข้อที่ 13-17 ถ้าตอบข้อ d มาก ก็เฮงซวยมากเช่นกัน ส่วนวิธีการคำนวนเป็น % ผมนี่อยากเขียน code เป็นเลยจะได้เขียนให้ เอาเป็นว่าในการคำนวนจริงมันมีน้ำหนักในแต่ละข้อ แต่เราใช้วิธีง่ายๆ ถ้าตอบ yes ก็นับ 1 คะแนน ถ้าตอบข้อ d ก็นับ 1 คะแนน แล้วเอาผลรวมของคะแนน หาร 17 คูณ 100 กันตรงๆเลยละกันครับ

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

คำถามของท่านหนิงก็ลึกล้ำมากครับ แน่นอนว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากคนเฮงซวยได้ครับ วิธีใช้งานค่อนข้างหลากหลายครับ เอาไว้ผมจะสรุปจากหนังสือและผสมกับความคิดเห็นของตัวเองลงไป แล้วนำมาบอกเล่ากันให้ฟังอีกครั้งครับ แต่ขอเน้นย้ำว่า blog นี้เพื่อการปรับตัวในสามารถทำงานร่วมกันได้กับผู้คนทุกรูปแบบนะครับ

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

29.41% เฮงซวยเบาๆ จริงๆก็ไม่อยากเป็นคนเฮงซวยเลยครับ เเต่โลกมันหล่อหลอมให้เราต้องเเข็งเเกร่งในโลกอันโหดร้ายนี้!!

เขียนโดย นายณัฐวุฒิ  ศรีสมบัติ

ก็จริงนะครับ ถ้าไม่มีเลยก็ไม่ได้ ว่ากันไปตามสถาพแวดล้อมของสังคม ดีเกินไปก็เสียเปรียบ ในโลกที่ไม่ได้เชิดชูคนดี คนเสียสละ จะทำก็ต่อเมื่อได้รับผลประโยชน์ โลกในยุคปัจจุบันมันเป็นโลกที่หมุนไปด้วยกลไกของผลประโยชน์ นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายนะครับ เป็นหลักการตามสังคมศาสตร์และการเมืองเรียกว่า Realism แปลเป็นไทยแบบงงๆว่า สัจจะนิยม แปลไทยอีกทีว่า การมองโลกตามความเป็นจริงแบบดิบเถือน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำไปเพื่ออยู่รอด ทำไปเพื่อเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่.....ช่วงนี้มาเรียนหลักสูตรทหารก็จะมีทฤษฎีแนวนี้เยอะหน่อย 555

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์