แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative Lanna) ด้วยแนวคิด BCG Economy  89

คำสำคัญ : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ  NEC  Northern  Economic  Corridor  

จากบล็อกครั้งก่อนนี้ ที่ได้นำเสนอข้อมูลในหัวข้อ อว. กลไกร่วม ขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและ ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ม.ค. – พ.ย. 2566)”ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลประเด็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ รวมทั้งบทบาทของ อว. ซึ่งถือได้ว่ากลไกสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักเพื่อขับเคลื่อน “สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ในพื้นที่เป้าหมายเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภูมิภาค แล้วนั้น

          บล็อกนี้ จึงจะขอนำเสนอเป็นข้อมูลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน “แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC- Creative Lanna) ด้วยแนวคิด BCG Economy”ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการข้อมูลองค์ความรู้ แนวคิด ประเด็นความต้องการที่สอดคล้องตามบริบทการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ในฉบับนี้

แผนแม่บทดังกล่าวนี้ เกิดจากการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC- Creative Lanna) ด้วยแนวคิด BCG Economy เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) เขตเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

ทั้งนี้ บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรมให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการพัฒนาแผนแม่บทเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ด้วยแนวคิด BCG Economy ภายใต้แผนงาน การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ โปรแกรมที่ 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญเมืองอัจฉริยะเมืองน่าอยู่และเมืองที่ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือร่วมกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อีกทั้งเพื่อผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะนำมาซึ่งการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

โครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือฯ นับว่าเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรฐกิจของภาคเหนือให้เติบโตไปข้างหน้า การระดมสมองและบูรณาการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการเรือธง (Flagship Projects) สำคัญ 4 โครงการได้แก่

1.ประตูสู่ความร่วมมือและเชื่อมร้อยอารยธรรมลุ่มน้ำ

2. เมืองแห่งสุขภาพและสุขภาวะของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ

3. เขตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพภาคเหนือ

และ 4. นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และศูนย์กลางโลจิสติกส์ 

โครงการเรือธงเหล่านี้จะเชื่อมร้อยห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่เป็นคลัสเตอร์เป้าหมายของระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือให้เติบโตได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือบนฐาน Bio-Circular-Green Economy ด้วย NEC BCG Innovation Platform จะช่วยให้การนำนโยบายไปสู่แผนการปฏิบัติในพื้นที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

แพลตฟอร์มนี้เป็นการเชื่อมโยงโครงการเรือธง และโครงการที่จะปิดช่องว่างการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของภาคเหนือ เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ตลอดต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากการผสานความร่วมมือ 4 จังหวัดภาคเหนือ โดยรวมโครงการภายใต้แผนแม่บท NEC ดังกล่าวมีมูลค่าโครงการรวมกว่า 140,000 ล้านบาท

หากผนวกกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของภาคเหนือ อาทิ รถไฟทางคู่ (เด่นชัย-เชียงใหม่/ เด่นชัย-เชียงของ) สนามบินเชียงใหม่แห่งที่สอง มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 350,590 ล้านบาท จะส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัลใน 4 จังหวัดแกนกลางเพิ่มขึ้น 

โดยจะส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหลักรวม 500 ราย เกิดผลิตภัณฑ์และบริการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 500 ผลิตภัณฑ์ เกิดเมืองหรือย่านสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เกิดเทศกาลสร้างสรรค์เชื่อมโยงเมืองต่างๆ ดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านคน เกิดการจ้างงานกว่า 2.9 ล้านตำแหน่งต่อปี

จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง 221,868 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มการเติบโตของ จีดีพีรวม 4 จังหวัดเป็น 1 เท่า มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2577

 

สรุปภาพรวมแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ด้วยแนวคิด BCG Economy

ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 15 แนวทาง และ 16 แผนงาน

 

 

หากสนใจอยากศึกษาข้อมูลแผนแม่บท และ ข้อมูลจาก Power Point การนำเสนอผลการดำเนินงาน Click -- Down Load ได้ที่นี่ค่ะ 

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/1558/Economic%20Corridor/NEC-BCG-Master-Plan-Summary%20(final).pdf

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/1558/Economic%20Corridor/NEC%20BCG%20Master%20plan%20AS%20Version%20V.1.pdf


เขียนโดย : น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : rachanis.s@mhesi.go.th

น่าสนใจมาเลยนะคะ มีหลาบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ VC ที่ กปว.จัดทำขึ้น

เขียนโดย น.ส.เดือนเพ็ญ  อาจไธสง

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากเลยค่ะ ที่ อว. จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยงานด้าน อววน. ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าตอนนี้มีข้อมูล แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคอื่นๆ ด้วยหรือไม่คะ? 

เขียนโดย มัชฌิมา  นันทรัตน์

แผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ของภาคอื่น ๆ ทราบว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ ประจำภูมิภาคต่าง ๆ ค่ะ 

เขียนโดย น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย