7 สกิล สาย IT ที่จำเป็นต้องมี   80

คำสำคัญ : 

ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูจนเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก นับเป็นยุคทองของผู้ที่มี สกิลสาย IT ทั้งหลายที่เป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์กับองค์กร ซึ่งนอกจากจะต้องเก่งด้าน IT แล้วยังจำเป็นต้องมีความตื่นตัวเพื่อพัฒนาตัวเองให้ทันโลก หรือล้ำหน้าอยู่เสมอด้วย เพราะโลกของเรามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเลือก 7 สกิลสาย IT ที่จำเป็นต้องมีในปี 2024 มาเป็นแนวทางให้กับหลายๆ คนที่รักและอยากเป็นสาย IT กัน 7 สกิล ดังนี้ค่ะ

1.         Cybersecurity หรือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ กระบวนการในการลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต ช่วยในการปกป้องข้อมูลจากการโจรกรรมของแฮกเกอร์ ตลอดจนการรั่วไหลของข้อมูล หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำงาน อุปกรณ์ และบริการที่ใช้งาน จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรและชื่อเสียงขององค์กรได้ 

2.         AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งเรื่องการทำงาน การทำธุรกิจ อุตสาหกรรม ร้านอาหาร การเงิน และในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่บริษัทฯ และองค์กรต้องการก็คือคนที่จะมาพัฒนา ปัญญาประดิษฐ์ อย่าง AI Engineer ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการ วิจัยและใช้อัลกอริทึม ML และเครื่องมือ AI, พัฒนาแอปพลิเคชัน Machine Learning, เรียกใช้การทดสอบและการทดลองของ Machine Learning / AI, แปลงต้นแบบ Data Science ฯลฯ รวมถึง ความรู้และความเข้าใจในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ

3.         Machine Learning  พัฒนาระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล ผ่านการเขียนโค้ด วางแผนโปรแกรม และเขียนโปรแกรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โปรแกรมเมอร์ ผู้ออกแบบซอฟต์แวร์ที่สามารถคิดวิเคราะห์ คาดการณ์ และทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องคอยให้มนุษย์มาสั่งการ ผ่านการจัดการ Big Data ที่จะถูกใส่เข้ามาในโปรแกรม และคิดค้นวิธีการที่จะย่นระยะเวลาและขั้นตอนการเรียนรู้ของ AI ผ่านการ optimize และสร้าง API ที่จะทำให้ระบบฉลาดขึ้นในเวลาที่สั้นลง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพความแม่นยำสูงที่สุด

4.         Cloud And SaaS  มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นโมเดลบริการหลักอย่าง Software as a Service (SaaS) เป็นรูปแบบที่ผู้ให้บริการจะดูแลทุกอย่างเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ เช่น การติดตั้ง, การอัพเดท, การบำรุงรักษา ครอบคลุมถึงการให้บริการแก่ผู้ใช้งานในเรื่องต่าง ๆ  ส่วนผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้งานซอฟต์แวร์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นผ่านคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และมือถือ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีคาดการณ์ว่า Cloud And SaaS จะเติบโตต่อไปในฐานะตลาดบริการ และคาดว่าจะเห็นตลาดสำหรับ SaaS เกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 เพราะการให้บริการประเภทนี้ สามารถทำการตลาดได้กับทั้ง B2B และ B2C เลยทีเดียว

5.         AR and VR เทคโนโลยีเสมือนจริง ที่สร้างโอกาสไม่รู้จบให้กับธุรกิจ การบริการ การจ้างงาน และการศึกษา มาตั้งแต่ปี 2565 คงหนีไม่พ้น AR และ VR และคาดว่าจะเติบโตเป็น 209.2 พันล้านดอลลาร์ ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเทคโนโลยีเสมือนจริง เข้ามามีบทบาทกับการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ของเรามากขึ้น นวัตกรรม AR and VR ก็จะพัฒนาจนเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะ AR และ VR กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ การออกแบบกราฟิก การวิจัย และอื่น ๆ อีกมากมาย อาชีพที่เป็นที่ต้องการในการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี VR และ AR ได้แก่ วิศวกรพัฒนาซอฟต์แวร์, นักจัดการโครงการ, ผู้ให้บริการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์, กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ฯลฯ

6.         DevOps โมเดล DevOps คือการผสมผสานระหว่างแนวความคิดเชิงวัฒนธรรม และ แนวทางปฏิบัติ เพื่อใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มี เพิ่มความสามารถขององค์กรในการส่งมอบแอปพลิเคชันและบริการอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ที่ยังคงรักษาการควบคุมความปลอดภัยและการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์กร  ทีมพัฒนา และ ทีมปฏิบัติ จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อขจัดขอบเขตความสามารถในการทำงานแบบ ต่างคนต่างทำจนเกิดเป็น Bug ภายในองค์กร ผู้ที่มีสกิลนี้ จะไม่รู้สึกว่าความผิดพลาดและความสำเร็จเกิดจากคนใดคนหนึ่ง แต่จะรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ เป็นของทุกคนและตนเองด้วย เพราะทั้งทีมพัฒนาและทีมปฏิบัติการจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาผลงานร่วมกัน มองเห็นปัญหาของกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนไอเดียทำให้เปิดมุมมองได้กว้างขึ้น เพิ่มขีดจำกัดความสามารถของตนเองและคนในทีม ในปัจจุบันเริ่มมีองค์กรมากมาย ที่ใช้โมเดล DevOps และคาดว่าในอนาคต โมเดลนี้จะกลายเป็นโมเดลหลักเพื่อใช้ในการทำงานของทุกองค์กรในไม่ช้า

   7.          Big Data  Big Data Big Data คือข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เป็นข้อมูลทั้งหมดภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ไฟล์ รูปภาพ ไฟล์บันทึกเสียง ฯลฯ ที่อยู่บนออนไลน์ ซึ่ง  ข้อมูลเหล่านี้ เราสามารถนำไปวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เพื่อนำไปวางแผนการตัดสินใจ ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี Big Data เป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญในด้าน IT เป็นอย่างมาก จึงเกิดเป็นอาชีพ Big Data Analyst (นักวิเคราะห์ข้อมูล), Data Scientists (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) และ Data Engineer (วิศวกรข้อมูล) ที่เก็บรวมรวบข้อมูลจากโมเดลหรือเครื่องมือต่างๆ มาวิเคราะห์และคาดการณ์เชิงลึก  เพื่อนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร


เขียนโดย : นางคัทลียา   สุเมฆะกุล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : kattaleeya.n@mhesi.go.th

เลือกข้อมูลดีจังเลยค่ะ ทำให้พี่เข้าใจศัพท์ IT ที่เค้าใช้กันให้ได้ยินบ่อยๆ มากขึ้นด้วย ขอบคุณนะคะ 

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และทำให้ได้รู้จักคำศัพท์ทางด้าน IT เพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ โดยส่วนตัวมีความสนใจเรื่อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) จะขออนุญาตแชร์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้ค่ะ

ประเภทความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ที่สำคัญมีทั้งหมด 5 ประเภท คือ

Network Security : กระบวนการปกป้องเครือข่ายจากแฮกเกอร์หรือภัยคุกคามภายนอก โดยจะมีระบบแจ้งเตือนความผิดปกติที่เกิดขึ้น

Application Security :ตัวช่วยในการรักษาความปลอดภัยทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการอัปเดตและทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการโจมตีหรือการแฝงตัว

Critical Infrastructure Security : การรักษาความปลอดภัยของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกโจมตีสูงกว่าระบบอื่น ๆ

Cloud Security : ระบบเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบอยู่เสมอ ทำให้ในปัจจุบันหลายองค์กรนิยมเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลหรือคลาวด์มากขึ้น

Internet of Things Security : การรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์ซึ่งมีการรับ-ส่งข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

 

5อันดับ Cyber Security Solutions

ในปัจจุบันมีแนวทางจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Solutions) ที่ได้รับความนิยมจากองค์กรส่วนใหญ่ 5อันดับ ได้แก่

Anti-malware/antivirus : โปรแกรมสแกนไวรัสและป้องกันไวรัสที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์

Cloud Native Application Protection Platform (CNAPP) : ใช้ในการสแกนหาอันตรายที่แฝงอยู่ในซอฟต์แวร์ และสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน

Software-defined wide area network (SD-WAN) : ช่วยป้องกันภัยคุกคามและเพิ่มความปลอดภัยในการเชื่อมต่อ

Next-generation firewall : รับมือกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อน ตรวจสอบและโต้ตอบการบุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Encryption : การเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูล กรณีข้อมูลเกิดรั่วไหลหรือถูกโจรกรรมในระหว่างการรับ-ส่ง ผู้ที่ได้ข้อมูลไปก็จะไม่สามารถใช้งานข้อมูลได้

ที่มาความรู้จาก https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/cyber-security

 

เขียนโดย น.ส.พุทธพร  ผ่องกาย