โรคเกาต์ ภัยร้ายใกล้ๆ ตัว อย่ามองข้าม  51

คำสำคัญ : โรคภัย  

        ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ยินคำว่า “โรคเกาต์ ” และ กรดยูริกบ่อยมาก   โดยเดือนก่อนไปทานข้าวกับเพื่อน เพื่อนก็บ่นว่าเป็นเกาต์ ปวดขามาก ๆ จนนอนไม่ได้ ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนั้นก็เป็นนักฟุตบอลของบริษัท เมื่อสัปดาห์ก่อนไปกินข้าวกับญาติ ก็บ่นว่า กรดยูริกสูง ต้องรีบลดกลัวจะเป็นเกาต์ จนเมื่อ 2 วันก่อน ไปทานข้าวกับน้องที่ทำงาน ก็เล่าว่าโรคเกาต์กำเริบถึงขนาดขาบวม จนเดินไม่ไหว  ทำให้ผู้เขียนอยากจะค้นคว้าหาข้อมูลว่า โรคเกาต์ เป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด จะมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ห่างไกลโรคนี้

  โรคเกาต์เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่างๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน โดยพบได้บ่อยในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคเกาต์เป็นโรคที่สามารถรักษาและควบคุมไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้

สาเหตุ

การสะสมตัวของกรดยูริกในกระแสเลือดส่งผลให้เกิดโรคเกาต์ได้ ร่างกายสร้างกรดยูริกจากการสลายตัวของสารเพียวรีนในอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานและจากแหล่งภายในร่างกายเอง อาหารที่มีสารเพียวรีนสูงได้แก่ เนื้อแดง เครื่องใน เช่นตับ และอาหารทะเล เช่น เคย ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ หอยเชลล์ ปลาเทราต์ และปลาทูน่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลฟรุกโตสจะเพิ่มระดับกรดยูริกในร่างกายได้ ปกติร่างกายจะขับกรดยูริกออกทางไตผ่านทางปัสสาวะ เมื่อร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือขับออกทางไตได้น้อยเกินไป ระดับกรดยูริกในเลือดจะสูงขึ้น จนเกิดการตกผลึกของกรดยูริกภายในข้อต่อได้ ผลึกที่มีรูปร่างคล้ายเข็มเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเกาต์ อย่างไรก็ตามกรดยูริกที่สูงเกินมาตรฐานอาจไม่ทำให้เกิดโรคเกาต์เสมอไป ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคล

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ระดับกรดยูริกในร่างกายที่สูงเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคเกาต์ได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารเพียวรีนสูงรวมทั้งเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล  ผู้ชายมี่ความเสี่ยงเกิดโรคเกาต์มากกว่าสตรี 9-10 เท่า

การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานส่งผลให้ร่างกายสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโรคเกาต์ได้เร็วขึ้นในอายุน้อย โอกาสเป็นโรคเกาต์สูงขึ้นในคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน กลุ่มอาการทางเมตาบอลิซึม โรคหัวใจและ โรคไต ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกาต์

การรักษา

ยารักษาโรคเกาต์มี 2 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีเป้าหมายในการรักษาที่แตกต่างกัน

1) ยาประเภทแรกช่วยลดการอักเสบและความรู้สึกไม่สบายตัวที่มาพร้อมกับโรคเกาต์

2) ยาประเภทที่สองช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์โดยลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล

ทั้งนี้ชนิดยาที่ควรรับประทานนั้นขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของอาการที่เป็น

 โรคเกาต์รักษาให้หายได้ไหม? รักษาอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคเกาต์หากได้รับการรักษาจะหายสนิทภายในเวลา 1-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักหายเป็นปกติได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และเว้นระยะเวลาอีกหลายเดือนหรือนานเป็นปี จึงมีอาการข้ออักเสบกำเริบขึ้นมาใหม่ อาการกำเริบของข้ออักเสบจะถี่ขึ้น นานขึ้น และเป็นหลายข้อขึ้นตามระยะเวลาที่ป่วย  ดังนั้น จึงมีเพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น ที่เราจะพบข้ออักเสบมากกว่า 1 ข้อในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาการนี้มักพบในผู้ป่วยโรคเกาต์เรื้อรัง

ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคเกาต์

มีแนวโน้มที่จะพบโรคเกาต์ในเครือญาติ นั่นคือ ผู้มีที่กรดยูริคในเลือดสูง และมีญาติสายตรงเป็นโรคเกาต์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงกว่าผู้ที่มีกรดยูริคในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีญาติสายตรงเป็นโรคเกาต์ โรคเกาต์สามารถพบได้บ่อยในเพศชาย ซึ่งมากกว่าเพศหญิง 9-10 เท่า พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และสำหรับเพศหญิงมักจะพบได้ในวัยหมดระดูเป็นส่วนใหญ่

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็น “เกาต์”

1) พบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน

2) ประคบเย็นขณะข้ออักเสบเฉียบพลัน

3) รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากน้ำหนักเกินมาตรฐานควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 32 kg/m2 โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง หรือวัดรอบเอวแล้วไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ในเพศหญิง และ 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ในเพศชาย

4) รับประทานอาหารให้เหมาะสมและถูกสัดส่วน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเพียวรีนสูง โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีอาการข้ออักเสบกำเริบหลังรับประทานอาหารที่มีเพียวรีน มาก่อน เช่น เครื่องในสัตว์ ไก่ เป็ด ซุปจากการต้มเคี่ยวเนื้อสัตว์ น้ำต้มกระดูก น้ำเกรวี่ ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา หอยบางชนิด ถั่ว ยอดผัก หน่อไม้ และแตงกว่า เป็นต้น (ทั้งนี้การควบคุมอาหาร สามารถลดระดับกรดยูริกในเลือดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น)

5) จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ ไวน์ ของหมักดองจากยีสต์

6) ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในไต

7) รับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการแพ้ยา ควรหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์

8) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

                                         

อาหารต้านเกาต์

1. ลดการกินเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิดแต่สามารถกินปลาได้ ทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด ซึ่งปลา   เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกกิน ไก่ ไข่ ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดีที่ย่อยง่ายได้ในปริมาณที่เหมาะสม

2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนจากพืช ข้าวกล้อง ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วเหลือง หรือธัญพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง นอกจากนี้ยังมีโปรตีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้

3. กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบได้ ซึ่งพบมากในผักและผลไม้

4.กินไขมันที่ดีจากถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ควรกินถั่ววันละประมาณ 1 กำมือ

5. ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ 2-3 ลิตรต่อวันเพื่อช่วยการขับกรดยูริกผ่านทางปัสสาวะ

6.ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตส  น้ำผึ้ง น้ำอัดลม หรืออาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อม ฟรุกโตสเข้มข้น ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้

7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากทำให้กรดยูริกในเลือดสูงแล้ว ยังทำให้ควบคุมน้ำหนักตัวยากอีกด้วย

8.จดบันทึกรายการอาหารที่กินแล้วอาการเกาต์กำเริบอาหารชนิดใดกินแล้วปวดมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเกาต์ให้ดีขึ้น  ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ลดแรงกดที่ข้อ

จะเห็นได้ว่า “ไก่” ไม่ได้เป็นอาหารต้องห้ามของผู้เป็นโรคเกาต์ แต่หากผู้ป่วยท่านใดกินไก่แล้วอาการปวดตามข้อเพิ่มมากขึ้น ก็ควรงด และเลือกโปรตีนจากแหล่งอื่นทดแทน เช่น ปลา ไข่ หรือโปรตีนจากพืช

   ซึ่งผู้เขียน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีสุขภาพดี ห่างไกลจากเกาต์

    “โรคเกาต์ ป้องกันได้ ถ้าท่านไม่ประมาทในการใช้ชีวิต” 


เขียนโดย : น.ส.พรเพ็ญ  ขลิบนิล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : pornpen.k@mhesi.go.th

โรคนี้เป็นได้ในหลายช่วงวัยนะคะ โปรดระวังเรื่องอาหารการกินกันด้วยนะคะ

เขียนโดย น.ส.เดือนเพ็ญ  อาจไธสง

เรื่องนี้เหมาะกับวัยเรามากๆ เลยจ้า จะได้หันมาดูแลสุขภาพ นอกเหนือจากการทุ่มเทในการทำงาน

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี

เป็นบทความที่มีประโยชน์มาก ๆ ค่ะ จะได้คอยระวังสุขภาพตัวเองและคนใกล้ตัว 

เขียนโดย นางพงศ์ภรณ์  วิลเฮลมี

โรคนี้ส่วนมากผู้ชายจะพบมากกว่าผู้หญิงครับ และสามารถเกิดจากการกินและพันธ์ูกรรมได้ครับ 

เขียนโดย นายพงศธร  มีเมือง