เครือข่ายส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กปว.#
  • บริการของ กปว.
    • โครงการ
    • เทคโนโลยี
    • ผู้เชี่ยวชาญ
    • คำปรึกษา/ลูกค้า
    • ผลิตภัณฑ์
    • แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • หน้าหลัก
  • Friday, May 16, 2025 เวลา :

เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด

รหัส
1528
ชื่อ
“ฉายรังสี” เทคโนโลยีกำจัดแมลงวันผลไม้ ชม 2,727 ครั้ง
เจ้าของ
สทน.
เมล์
-
รายละเอียด

แมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทองเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของผลไม้เกือบทุกชนิดในประเทศไทย ผลไม้ที่มีเปลือกบางหรืออ่อนนุ่มจะถูกทำลายได้ง่าย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน มะเฟือง น้อยหน่า ละมุด และพืชต่างๆ ประมาณ 150 ชนิด ล้วนเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ทั้งสิ้น เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ในพืชอาศัยต่างๆ ได้เกือบตลอดทั้งปี จึงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาในการควบคุมและกำจัด

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลที่ได้จากการเกษตรนอกจากใช้บริโภคในประเทศแล้ว ยังส่งไปขายต่างประเทศ นำเงินตราเข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท ความเสียหายของผลิตผลการเกษตรส่วนใหญ่เกิดจากแมลงศัตรูพืช เพื่อลดความเสียหายของผลิตผล เกษตรกรจึงนิยมใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านั้น แต่การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช นอกจากทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แมลงศัตรูพืชยังสร้างความต้านทานต่อพิษของสารฆ่าแมลง

นอกจากนี้ พิษของสารเคมียังเป็นอันตรายต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อทางการเกษตรเช่น ผึ้ง ชันณรงค์ แตนเบียน ตัวห้ำ เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสารพิษตกค้างในผลิตผล ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อต่อสู้กับเหล่าแมลงศัตรูพืชทั้งหลาย เทคนิคที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (Sterile Insect Technique, SIT) เป็นเทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดการแมลงศัตรูพืชทั่วโลก

เทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน เป็นการใช้แมลงชนิดเดียวกันควบคุมแมลงชนิดเดียวกันเพื่อไม่ให้มีจำนวนประชากรของแมลงชนิดนั้นๆ มากจนเป็นอันตรายต่อผลิตผลการเกษตร ขั้นตอนของเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมันประกอบด้วยการเลี้ยงแมลงในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงที่ทำหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวหนอน (ไม่มีลูก) จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประสบความสำเร็จในการลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงได้ผสมผสานวิธีการอื่นๆ ผนวกเข้ามาด้วย ได้แก่ การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน (parasites and predators)การใช้กับดักพืชอาศัย (trap crop)การใช้พืชต้านทาน (host plant resistance)การยับยั้งการผสมพันธุ์ของแมลง (mating inhibitors)



เทคโนโลยีการควบคุมแมลงวันผลไม้

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ดำเนินการควบคุมแมลงวันผลไม้ตามมาตรฐานสากลด้านสุขอนามัยพืช ฉบับที่ 9 และฉบับที่ 26 ประกอบด้วย

1. การใช้แมลงที่เป็นหมัน(sterile fly release)

2. เลือกใช้ชนิดสารฆ่าแมลงและเหยื่อพิษ(selective insecticide-bait treatment)

3. เก็บผลไม้ทั้งหมดออกจากต้นหรือแปลงปลูก(total harvest of fruit in the trees)

4. การใช้สารล่อเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้เพศผู้(male annihilation technique)

5. การเก็บผลไม้ที่เสียหายจากแมลงวันผลไม้ไปทำลาย(destruction of infested fruits)

6. การฉีดพ่นสารฆ่าแมลง (insecticides)

การสำรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังและการประเมินผลตามมาตรฐานสากล โดยใช้ระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศควบคู่กับระบบกับดักและการสุ่มผลไม้

วงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้

การเจริญเติบโตของแมลงวันผลไม้โดยทั่ว ๆ ไป แบ่งออกเป็น4 ระยะคือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ไข่ รูปร่างคล้ายผลกล้วยขนาดกว้าง0.2 มิลลิเมตร ยาว 0.4 มิลลิเมตร สีขาวขุ่น ผิวเป็นมัน สะท้อนแสง ที่อุณหภูมิ 28 – 32 องศาเซลเซียส ระยะไข่ 2 วัน

หนอน ระยะทำลายผลไม้ ตัวยาวรี หัวแหลม ท้ายป้าน ไม่มีขา สีขาว หรือมีสีใกล้เคียงกับผลไม้ที่เป็นพืชอาศัย ตัวหนอนที่โตเกือบเต็มที่เคลื่อนที่โดยการดีดตัว ซึ่งแต่ละครั้งจะดีดตัวไปได้ไกลประมาณ30 เซนติเมตร หนอนโตเต็มที่มีขนาดลำตัวกว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 10 มิลลิเมตร ระยะหนอนประมาณ 8 – 12 วัน

ดักแด้ กลมรีคล้ายถังเบียร์ ขนาดกว้าง2 มิลลิเมตร ยาว 4 มิลลิเมตร สีน้ำตาล เห็นปล้องตามแนวขวางชัดเจน เป็นระยะที่แมลงจะอยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนไหว และอาศัยในดินลึกประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 10 – 12 วัน

ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลปนดำ บางชนิดมีสีน้ำตาลอมแดง และมักมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอกของแมลง ปีกบางใสสะท้อนแสง ระยะตัวเต็มวัยไม่ทำลายพืชผล ตัวเต็มวัยหลังออกจากดักแด้ประมาณ10 วัน จึงเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่ในผลไม้ที่อาศัย ตัวเต็มวัยระยะแรกต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อไปพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์และการวางไข่ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เวลากลางวันประมาณ 1,000 – 3,000 ฟองต่อตัว มีอายุเฉลี่ย 1 – 3 เดือน

การฉายรังสีทำหมันแมลงวันผลไม้

ในธรรมชาติเมื่อแมลงวันผลไม้เพศผู้ผสมพันธุ์กับแมลงผลไม้เพศเมียจะขยายพันธุ์ให้ลูกหลานต่อไป แต่เมื่อแมลงวันผลไม้เพศเมียในธรรมชาติผสมพันธุ์กับแมลงวันผลเพศผู้ที่ทำหมันด้วยรังสี แมลงเพศเมียจะวางไข่ที่ไม่ฟักเป็นตัวเป็นการคุมกำเนิดแมลง การปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากไปผสมพันธุ์กับแมลงเพศเมียในธรรมชาติและปล่อยต่อเนื่องกันจะทำให้แมลงวันผลไม้ลดลง

วิธีการฉายรังสีทำหมันทำได้โดยนำดักแด้อายุ 1 วัน ก่อนออกเป็นตัวเต็มวัย (ตาเป็นสีน้ำตาลเข้ม) จะบรรจุในถุงพลาสติกถุงละ 800 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือประมาณ 32,000 ตัว แล้วนำไปฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีแบบ Gamma Chamber 5000 ที่ปริมาณรังสี 90 เกรย์ แล้วใส่ในตะกร้าพลาสติกที่รองพื้นด้วยแผ่นฟองน้ำ ขนส่งไปปล่อยในพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ โดยใช้รถห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส

การควบคุมแมลงวันผลไม้นอกจากจะสามารถลดการระบาดของแมลงวันผลไม้ให้อยู่ในระดับต่ำไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้แล้ว เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้นหรือถูกทำลายน้อยลง อีกทั้งยังเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรของเกษตรกรรวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ลดการใช้สารเคมีช่วยลดปัญหาด้านชีวิตและสุขภาพของเกษตรกร อนุรักษ์ฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสภาพสมดุล และเป็นแนวทางใหม่ที่จะส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยได้อีกด้วย

คำสำคัญ
รังสี  แมลงวัน  
บันทึกโดย
นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ  สำนักงานปลัดกระทรวง

รายละเอียดผู้รับบริการ

46267
ผู้ถาม : กมนชนก ที่อยู่ 2328/1980 อาคารสินเศรษฐี ทาวน์ 3 รามคำแห่ง 52/2 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ
วันที่ถาม : 07/04/2563
คำถาม : ต้องการผลิต เพื่อการจำหน่ายด้วยตัวเอง และการส่งออก
คำตอบ :
การดำเนินงานจากเครือข่าย




สงวนลิขสิทธิ์ © 2568 กลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม(ธท.) กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.)
มีปัญหาแจ้งได้ที่ ekapong at mhesi.go.th