เครือข่ายส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กปว.#
  • บริการของ กปว.
    • โครงการ
    • เทคโนโลยี
    • ผู้เชี่ยวชาญ
    • คำปรึกษา/ลูกค้า
    • ผลิตภัณฑ์
    • แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • หน้าหลัก
  • Tuesday, July 1, 2025 เวลา :

เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด

รหัส
1527
ชื่อ
โรงเรือนคัดเลือกแสงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ชม 2,516 ครั้ง
เจ้าของ
MTEC
เมล์
-
รายละเอียด

สวทช. โดย เอ็มเทค ได้พัฒนาพลาสติกสำหรับใช้คลุมโรงเรือนเพาะปลูกพืชบนพื้นที่สูง ให้มีสมบัติในการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติมโตของพืช และลดการส่องผ่านของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อลดความร้อนสะสมในโรงเรือน พลาสติกที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเหนียว และทนทานต่อการใช้งาน โดยได้มีการทดลองการใช้งานจริงในพื้นที่สถานีวิจัยเกษตรต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ โครงการหลวงปางดะ โครงการหลวงแม่สาใหม่ โครงการหลวงห้วยลึก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ โดยทดลองปลูกพริกหวาน เมลอน และผักสลัดแดงเรดโครอล ในโรงเรือนที่พัฒนาขึ้น ซึ่งพบว่า พืชจะมีลักษณะสีเข้มสด และให้ผลผลิตที่สูงกว่าพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้โรงเรือนพลาสติกเลือกแสง

ฟิล์มโพลีเทคพลาสติก เป็นพลาสติกคัดกรองแสงสำคัญจากดวงอาทิตย์สำหรับคลุมโรงเรือนเพาะปลูก มีคุณสมบัติใหม่พิเศษสามารถลดการเพิ่มของอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ 1-3 องศาเซลเซียส ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ผลิตขึ้นจากพอลิเมอร์ชนิด LDPE (Low Density Polyethylene) และชนิด LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) ที่มีขายทั่วไป โดยการเติมสารประกอบไทเทเนียมไดออกไซด์ที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ทำให้พลาสติกยังคงคุณสมบัติความใสไว้ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติการใช้งานที่ดี คือ ม้วนได้ มีความเหนียวมีอายุใช้งานนาน และมีราคาไม่แพง ซึ่งฟิล์มพลาสติกที่พัฒนาขึ้นมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าพลาสติกใสกรองแสงที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถึง 4 เท่า คุณสมบัติเด่นของฟิล์มโพลีเทคพลาสติก คือ สามารถออกแบบให้คัดกรองช่วงแสงสำคัญที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยในขณะเดียวกัน ก็สามารถป้องกันรังสี UV ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืชได้อีกด้วย ช่วยลดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวให้เร็วขึ้น และ เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น พืชผัก พืชผล และไม้ผลขนาดเล็กที่ผลิตได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับการปลูกภายใต้โรงเรือนเพาะปลูกที่คลุมด้วยพลาสติกที่มีขายทั่วไป นอกจากนั้น การตัดรังสีบางช่วงออกไปยังช่วยป้องกันโรคพืชบางชนิดที่อาศัยช่วงรังสีดังกล่าวในการแพร่ระบาด ช่วยลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชในโรงเรือนได้ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ คุณสมบัติพิเศษในการควบคุมสัดส่วนช่วงรังสีของแสงที่ส่องผ่านเข้าไปในโรงเรือนนี้ ยังช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการในพืชและสมุนไพรได้ เช่น ทำให้พริกมีรสเผ็ดขึ้น ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในสมุนไพรบางชนิดหรือช่วยเพิ่มปริมาณวิตามิน และทำให้รสชาติของผลไม้บางชนิด เช่น สตรอเบอร์รี่ ดีขึ้น ดังนั้น นอกจากจะช่วยเกษตรกรเพิ่มคุณภาพพืชผลที่เพาะปลูกแล้วนั้น ยังช่วยให้พืชผักผลไม้ที่ปลูกในเมืองไทยสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในตลาดโลกทั้งในด้านรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายแสงภายในโรงเรือนเพาะชำที่คลุมด้วยโพลีเทคพลาสติกให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ปริมาณแสงที่ส่องเข้าไปในโรงเรือนกระจายครอบคลุมพืชทุกต้นในระดับที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของโรงเรือนหรือแม้ในสภาพอากาศที่มืดครึ้ม ซึ่งคุณสมบัติการกระจายแสงนี้จะทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ก้าวสำคัญขั้นต่อไปของทีมวิจัย คือ การพัฒนาโพลีเทคพลาสติกให้เป็น “โพลีเทคพลาสติกอัจฉริยะ” (Smart PolyTech Plastic) ภายในปี 2552 ซึ่งจะเป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติล้ำหน้าสำหรับใช้ในโรงเรือนเพาะชำ ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถจะคัดเลือกช่วงแสง และกันรังสีอันตรายออกไปเท่านั้น แต่สามารถที่จะแปรรังสีดังกล่าวให้เป็นรังสีที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชแทน

นอกจากนี้ มีเกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่ภาคอีสานเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนคัดเลือกแสง จากหมู่บ้านเกษตรกร
อินทรีย์ บ้านหนองมัง ชุมชนราชธานีอโศก จังหวัดอุบลราชธานี และชุมชนศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับประกอบการตัดสินในการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลาสติกคัดกรองแสงสำหรับคลุมโรงเรือนเพาะปลูก และเพื่อขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยให้ผู้ที่สนใจได้นำไปแพร่สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างความสำเร็จ



ข้อมูลพิมพ์เขียวโรงเรือนพลาสติกคัดกรองแสง..



ข้อมูลเทคโนโลยีการปลูกผักอินทรีย์ด้วยโรงเรือนพลาสติกคัดกรองแสง นำเสนอในการประชุม ที่ จ.นครพนม ในวันที่ 23 ธ.ค. 58 โดย ผอ.ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส สวทช.

คำสำคัญ
พลาติก  โรงเรือน  เกษตร  ผัก  
บันทึกโดย
นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ  สำนักงานปลัดกระทรวง

รายละเอียดผู้รับบริการ

ไม่พบข้อมูลผู้รับบริการ




สงวนลิขสิทธิ์ © 2568 กลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม(ธท.) กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.)
มีปัญหาแจ้งได้ที่ ekapong at mhesi.go.th