ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) : ข้อมูลควรรุ้ 01  56

คำสำคัญ : 

1. อัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity)

    1.1 โลกดิจิทัล : คือโลกเสมือนจริงซึ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการหาข้อมูล การสื่อสาร การเผยแพร่เนื้อหารวมถึงการให้คำปรึกษาต่างๆ ซึ่งมีข้อด้อย เช่น ในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้สึก การร่วมกิจกรรมที่ใช้การปฏิบัติและการทำธุรกรรมที่ต้องดำเนินการจริงอย่างธุรกรรมทางการเงิน

          โลกดิจิทัลกับโลกความจริงจะต่างกันในเรื่องช่องทางการสื่อสาร เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และเครือข่าย และมีความเสมือนที่ใกล้เคียงความจริงในเรื่องความเหมาะสมในการปฏิบัติ ได้แก่ การใช้งานอย่างมีมารยาท ยึดหลักจริยธรรมและต้องทำตามกฎหมาย

     1.2 อัตลักษณ์ดิจิทัล คือ ภาพลักษณ์และตัวตนในโลกดิจิทัล ที่เกิดจากการเพยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ ที่ทำให้ผู้อื่นจดจำเราได้

     - ข้อมูลส่วนที่เป็นอันเดียวกับโลกความจริง ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล รูปประจำตัว วันเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขบัตรเครดิต

     - กิจกรรม เช่น บัญชีอีเมล สถานที่เช็คอิน พฤติกรรม/ประวัติการใช้งาน

     - ผลจากการสร้างอัตลักษณ์ดิจิทัล

       ทางบวก เช่น ผู้คนจดจำในทางที่ดี สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เปิดโอกาสการสื่อสารต่างๆ

       ทางลบ เช่น อาจถูกคนมุ่งร้าย เกิดภาพลักษณ์ในแง่ลบ ถูกโจรกรรมทางดิจิทัล ทำให้เสียโอกาสหรือมีผลต่อสภาพจิตใจ

“ซึ่งการสร้างตัวตนดิจิทัลจะกลายเป็นตัวตนที่ไม่สามารถลบได้ จึงควรสร้างอัตลักษณ์ที่ดี”

       1.3 ความเป็นส่วนตัว ในโลกดิจิทัล (Digital Privacy)

        ข้อมูลส่วนตัว คือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่เผยแพร่ได้โดยไม่เป็นอันตราย เช่น ชื่อ อายุ เพศ ความชอบต่างๆ สิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย เช่น เลขบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และวันเกิด  

        ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เช่น ไม่ตั้งค่าบัญชีเป็นสาธารณะ จัดการความปลอดภัยอุปกรณ์ ทำความเข้าใจเงื่อนไขของโปรแกรมที่ใช้งาน และตั้งรหัสผ่านรวมถึงการมีข้อมูลกู้คืนบัญชี

         มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

          PDPA : กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งระบุให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เก็บข้อมูลของประชาชนต้องไม่นำข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอม โดยจะคุ้มครองรวมถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง พฤติกรรมทางเพศและอื่นๆ

          บทลงโทษของผู้ที่ละเมิดสิทธิ์และความเป็นส่วนตัวของโลกดิจิทัลมีดังนี้

          1) โทษทางอาญา : จำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 1ล้านบาท

          2) โทษทางแพ่ง : จ่ายสินไหมไม่เกิน 2 เท่า ของสินไหมที่แท้จริง

          3) โทษทางปกครอง : ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท      

 พ.ร บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2550 และ 2560

          1) ตามมาตรา 9-10 : การแก้ไข ดัดแปลง หรือทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          2) ตามมาตรา 11 การส่งข้อมูลหรืออีเมลก่อกวนผู้อื่น หรือส่งอีเมลสแปม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปี ปรับไม่เกิน 4หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          3) ตามมาตรา 14 การนำข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี ปรับไม่เกิน 6แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกคุกคามบนโลกดิจิทัล เช่น เมื่อถูกแฮกบัญชี จะสามารถทำการขอพิสูจน์ตัวตนดิจิทัล/ตั้งรหัสผ่านใหม่ หรือรายงานปัญหาไปยังเว็ปไซต์ และเมื่อกลับไปใช้งานให้ตั้งค่าการป้องกันระดับสูง

2. การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม (Digital Use)

     2.1 การใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุล (Balanced Use of Technology)

     การใช้งานหน้าจอนานเกินไปจะมีผลต่อสุขภาพ เช่น ทำให้สายตาเสีย ในกรณีที่อ่านตัวหนังสือที่เล็กเกินไปหรือหน้าจอมีแสงสว่างมากเกินไป หรือทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอหรือแขนเมื่อใช้อุปกรณ์ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหลักการรักษาสมดุลเวลาใช้หน้าจอ มีดังนี้

     - ในโลกความจริงให้คนเป็นเบอร์ 1

     - มีเป้าหมายในการใช้งานดิจิทัล

     - ใช้ร่างกายเป็นมาตรวัด

     - เตรียมใจให้พร้อมเมื่อเจอหน้าจอ

มีแอปพลิเคชั่นที่สามารถเช็คระยะเวลาการใช้งานอุปกรณ์ได้ เช่น

     Android : Digital Wellbeing

     IOS : Setting (การตั้งค่า)

     วิธีการลดความเสี่ยงจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือได้แก่ ยกให้มีระยะห่างจากสายตาประมาณ 12-18 นิ้ว , ยกตั้งศอกกับลำตัว, นั่งบนเก้าอี้มีพนักพิง, ไม่เล่นติดต่อกันเกิน 1-2 ชั่วโมง, พักสายตาและข้อมือทุก 5-10 นาที ,ปรับความสว่างหน้าจอให้เหมาะสม

     การเสพติดเนื้อหา

     - อาการ : เข้าดูหลายๆ ครั้งใน 1 วัน ถ้าไม่เข้าจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป และคิดถึงเสมอเมื่อมีเวลาว่าง

     - ผลต่อสุขภาพ : ภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่ออาการวิตกกังวล ขาดความยับยั้งชั่งใจ รู้สึกต่อต้านสังคม

     2.2 การเอาใจใส่ทางดิจิทัล (Digital Empathy)

     สิ่งที่ควรทำ : การแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจ โดยตระหนักว่ามีคนอื่นที่สื่อสารนอกจากเรา จึงควรใช้คำอย่างระมัดระวัง ใช้วิจารณญาณในการตีความและตอบโต้

     สิ่งที่ไม่ควรทำ : ไม่ควรแสดงความเห็นหยอกล้อซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการสื่อสารผิดพลาด ไม่ควรโพสต์ข้อความโวยวาย ต่อว่า ตำหนิหรือนินทาลับหลังผู้อื่น

     เนื้อหาที่ควรระวัง

     - เนื้อหา/รูปภาพ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

     - เนื้อหา/รูปภาพ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านความเชื่อและศาสนา

     - เนื้อหา/รูปภาพ ที่แสดงความรุนแรง ทารุณ

     - เนื้อหา/รูปภาพ ที่แอบถ่ายหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต

3. การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security)

    การล่วงละเมิดทางไซเบอร์ (Cyber Abuse)

    คือ การแสดงพฤติกรรมที่เป็นอันตราย สร้างความรำคาญหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นบนเครือข่ายออนไลน์ต่างๆ ทั้งด้านความรู้สึกและทรัพย์สิน ได้แก่

     - การระรานทางไซเบอร์ (Cyber bullying) คือ การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ด่าว่า ข่มเหง หรือรังแกผู้อื่นในโลกดิจิทัล ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

     - การรังควานทางไซเบอร์ (Cyber Harassment) คือ การละเมิดที่รุนแรงมากขึ้นกว่าการระราน โดยการส่งข้อความหรือคอมเมนต์ทำร้ายจิตใจ

     - การสะกดรอยตามทางไซเบอร์ (Cyber Stalking) คือ การติดต่อหรือการส่งข้อความซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องจากบุคคลที่เราไม่ต้องการ เกิดจากแรงจูงใจต่างๆ

     - การก่อกวน (Trolling) คือ การจงใจโพสต์หรือคอมเมนต์ที่ยั่วยุ ทำให้ตกใจ เสียอารมณ์ หรือทะเลาะกับบุคคลอื่น

     สาเหตุของการถูกละเมิดทางไซเบอร์ ได้แก่

     - ตั้งรหัสผ่านที่ง่ายเกินไป เช่น "password" มีผู้ใช้จำนวน 4,929,113 บัญชี และ "123456" มีผู้ใช้จำนวน 1,523,537 บัญชี

     - โปรแกรมรักษาความปลอดภัยไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

     - ความประมาท เช่น การกดลิงก์ที่ไม่รู้จัก

    ผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์

    ต่อบุคคล : นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้แอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ

    ต่ออุปกรณ์ : สามารถโจมตีให้อุปกรณ์และระบบไม่สามารถใช้งานได้เพื่อเรียกเก็บเงินค่าไถ่

    ภัยคุกคาม ได้แก่ อีเมลอันตราย สแปม ฟิชชิ่ง มัลแวร์ ภัยจากการช้อปออนไลน์ และภัยจากการไม่สำรองข้อมูล ซึ่งมีเว็บไซต์ในการตรวจสอบภัยคุกคามทางดิจิทัล ดังนี้

   - สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

   - ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรม

.................

ข้อมูลจากบทเรียนออนไลน์ ของสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (TDGA)

หัวข้อ Digital Literacy : ความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence)

บรรยายโดย อาจารย์สุมนฒ์ จิรพัฒนพร

หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์


เขียนโดย : น.ส.พุทธพร  ผ่องกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : puttaporn.p@mhesi.go.th