กปว. กับการประเมินผลตอบแทนเชิงสังคม (Social Return on Investment: SROI)  119

คำสำคัญ : SROI  

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 15 ก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ได้มีการแบ่งส่วนราชการ สป.อว. โดยกำหนดให้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำกลยุทธ์ ประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กระทรวง ยุทธศาสตร์ภูมิภาค ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และยุทธศาสตร์อื่น ๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

จากอำนาจและหน้าที่ตามกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวกปว. จึงได้มีการกำหนดตัวชี้วัดทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ (ระดับกระทรวง) และเชิงกลยุทธ์ (ระดับกรม) ที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น เครื่องมือการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment: SROI) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม และดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) จึงถูกนำมาวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการสนับสนุนงบประมาณ (ต้นทุน) ขององค์กรว่าสามารถสร้างผลตอบแทนคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเชิงผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) หรือไม่

ปัจจุบัน เครื่องมือการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ได้รับความสนใจจากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสังคมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเครื่องมือ SROI ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จของโครงการเพื่อสังคม โครงการของรัฐ และกลายเป็นเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จของโครงการ/กิจกรรมในหลายบริบท เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำมาเป็นตัวชี้วัดแสดงถึงความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการขององค์การมหาชน เกณฑ์รางวัลแห่งเกียรติยศอุตสาหกรรมไทย (The Prime Minister’s IndustryAward) ที่นำมาเป็นตัวชี้วัดด้านการสร้างแนวคิดต้นแบบเชิงสร้างสรรค์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงด้านการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นต้น

การประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) มีประเด็นที่สำคัญในการนำมาเป็นแนวทางในการประเมินองค์กร สามารถจำแนกประเด็นในการนำเสนอออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

         1) ความหมายและความสำคัญของการประเมินผลตอบแทนทางสังคม

         2) การวิเคราะห์ผลกระทบ

         3) การวิเคราะห์เพื่อประเมินผลตอบแทนทางสังคม

อาจกล่าวได้ว่า มูลค่าผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คิดรวมถึงประโยชน์ที่เกิดกับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม มีผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งการลงทุนได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พฤติกรรม ความคิดและความเชื่อของประชาชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นผลกระทบในวงกว้างและยาวนาน ไม่ใช่เพียงผลที่เกิดกับคนเพียงบางคนและในระยะเวลาอันสั้น การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลลัพธ์และผลกระทบจากการลงทุนเหล่านั้น เมื่อสามารถคำนวณมูลค่าเป็นรูปตัวเงินผ่านค่าตัวแทนทางการเงิน (Financial proxy) สามารถนำมาคำนวณเป็นผลตอบแทนเทียบกับจำนวนเงินของการลงทุนได้

ทั้งนี้ ค่าตัวแทนทางการเงิน (Financial proxy) คือ ค่าเทียบเคียงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางสังคม จากกิจกรรมที่มีราคาตลาด (Market price) เพื่อนำมาประมาณมูลค่าของกิจกรรมหรือประโยชน์ที่ไม่มีราคาตลาด (Non-market benefits) ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของกิจกรรมและการเกิดประโยชน์นั้น ๆ

ดังนั้น ค่าตัวแทนทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่เป็นอัตวิสัย (Subjective) มากกว่าภววิสัย (Objective) ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ใช้งาน ในทางวิชาการยังไม่มีรายการของค่าตัวแทนทางการเงินที่ใช้ได้ทุกกรณี และทุกบริบท แม้ว่าจะมีความพยายามจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการวิจัยของประเทศที่จะจัดทำขึ้น แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะความเห็นของนักวิชาการยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นการใช้ค่าตัวแทน ทางการเงินจึงขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผลของการเลือกใช้ค่าเทียบเคียงที่ดีที่สุดกับสิ่งที่กำลังประเมินอยู่

ทั้งนี้ มูลค่าผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) มีหน่วยเป็นเท่า เมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ อย่างไรก็ตาม ค่าของ SROI มีความอ่อนไหวต่อการใช้ค่าตัวแทนทางการเงิน (Financial proxy) ที่ต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ค่าตัวแทนทางการเงินจึงมีความสำคัญและต้องเลือกใช้ให้สอดคล้องกับการประเมินมูลค่าของประโยชน์แต่ละด้าน ซึ่งนักวิจัยจำเป็นต้องทดลองใช้ค่าตัวแทนทางการเงินหลายรูปแบบ แล้วจึงจะรายงานค่าตัวแทนทางการเงินที่ดีที่สุดที่เลือกใช้ไว้ในรายงานขั้นต่อไป


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th

เครื่องงมือในการประเมินโครงการ มี 2 ลักษณะ คือ 
ประเมินประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของโครงการ ที่พี่ใช้อยู่มี CIPP และ CIPPiest

ประเมินมูลค่าโครงากร มีทั้ง มูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น BCR , NPV , ROI 

มูลค่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เช่น SIA , SROI

ลองสร้างโมเดล ของทั้ง 2 แบบ มาเป็นแบบประเมิน กปว. ครับ

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมครับ ผอ.พี่เอก

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี